ประเภทของคีย์บอร์ด
ทำความรู้จักกับคีย์บอร์ดอย่างละเอียด
ทุกท่านรู้ไหมว่า “คีย์บอร์ด” หรือ “แป้นพิมพ์” ที่เราใช้กันอยู่ทุกวันนี้สามารถแบ่งออกเป็นหลายประเภท หลายชนิด ด้วยหลายกฎเกณฑ์ บ้างก็แบ่งด้วยกลไกของปุ่มกดและหลักการทำงานของวงจรไฟฟ้า บางทีก็แบ่งด้วยจำนวนปุ่มกด หรือแบ่งโดยการวางเลย์เอาท์ของปุ่มกดก็มี! ฟังดูแล้วอาจจะเวียนหัวนะครับ แต่ไม่ต้องตื่นตระหนกไป เพราะในบทความนี้ Keychron Thailand จะมาให้ข้อมูลเรื่องคีย์บอร์ดอย่างละเอียด ให้ครบทุกซอกทุกมุมในบทความเดียว !
โดยทั่วไปแล้วเราแบ่งประเภทคีย์บอร์ดด้วย 3 หลักเกณฑ์ด้วยกัน ดังนี้
ประเภทคีย์บอร์ดแบ่งตามกลไกปุ่มกด
- คีย์บอร์ดประเภทปุ่มยาง (Rubber Dome Keyboard)
- คีย์บอร์ดประเภทกลไก (Mechanical Keyboard)
- คีย์บอร์ดประเภทกึ่งกลไก (Semi-Mechanical Keyboard)
แบ่งตามขนาดและจำนวนปุ่มกด
- คีย์บอร์ดขนาดเต็ม (Full-Sized Keyboard)
- คีย์บอร์ดไร้ปุ่มตัวเลข (Ten-Key-less Keyboard)
- คีย์บอร์ดกะทัดรัด (Compact Keyboard)
แบ่งตามเลย์เอ้าท์การจัดวางปุ่ม
- คีย์บอร์ดแบบอมเริกัน (ANSI)
- คีย์บอร์ดแบบยุโรป (ISO)
- คีย์บอร์ดแบบญี่ปุ่น (JIS)
คีย์บอร์ดปุ่มยาง (Rubber Dome Keyboard)
แบ่งประเภทตามกลไกปุ่มกด
หากคุณไม่รู้ว่าคีย์บอร์ดที่คุณใช้อยู่นั้นคือคีย์บอร์ดประเภทไหน ให้เดาไว้ก่อนเลยครับว่าคุณกำลังใช้คีย์บอร์ดปุ่มยาง (Rubber Dome Keyboard) นั่นเพราะว่าคีย์บอร์ดประเภทนี้เป็นคีย์บอร์ดชนิดที่พบได้มากที่สุดในตลาด เนื่องจากต้นทุนในการผลิตต่ำกว่าและผลิตได้ง่ายกว่า แต่นั่นก็ต้องแลกมากับอายุการใช้งานที่ต่ำและสัมผัสการกดปุ่มแป้นพิมพ์ที่ “ไม่สบาย” เท่าคีย์บอร์ด Mechanical หรือ Semi-Mechanical นั่นเองครับ
โดยชื่อของ “คีย์บอร์ดปุ่มยาง” นั้นมาจากหลักการทำงานของคีย์บอร์ดประเภทนี้ที่ใช้ปุ่มยาง (Rubber dome) เล็กๆ ใต้ปุ่มแต่ละปุ่มเปิดปิดวงจรไฟฟ้าในตัว เมื่อท่านกดปุ่มคีย์บอร์ดลงไป ตัวเชื่อมวงจรใต้ปุ่มก็จะถูกกดจนยุบลงไปเชื่อมแผงวงจรให้ครบวงจร ก่อนปุ่มยางจะเด้งตัวกลับขึ้นมาตามภาพ
หลายๆ ท่านอาจจะเคยได้ยินชื่อ “คีย์บอร์ดแผ่นพลาสติก” หรือ “Membrane Keyboard” ผ่านหูมากันบ้าง โดยเจ้าคีย์บอร์ดตัวนี้มักจะถูกใช้เรียกสลับกับคีย์บอร์ดปุ่มยาง (Rubber Dome Keyboard) เสมือนว่าเป็นชนิดเดียวกัน ซึ่งในทางเทคนิคแล้ว เอาจริง ๆ เจ้า Rubber Dome Keyboard กับ Membrane Keyboard นี้เป็นคนละชนิดกันนะครับ! แต่เนื่องจากคีย์บอร์ดส่วนใหญ่มักจะใช้ปุ่มยางกับแผ่นวงจรพลาสติกร่วมกัน ทำให้เจ้าคีย์บอร์ดสองตัวนี้ถูกเราเรียกรวบเป็นชนิดเดียวกันไปโดยปริยาย (นั่นหมายความว่าในตลาดยังมีคีย์บอร์ดบางรุ่นที่ใช้ Rubber Dome แต่ไม่ใช้ Membrane หรือใช้ Membrane แต่ไม่ใช้ Rubber Dome ด้วยนั่นเอง)
คีย์บอร์ดกลไก (Mechanical Keyboard)
แบ่งประเภทตามกลไกปุ่มกด
คีย์บอร์ดกลไก หรือ เมคานิคอลคีย์บอร์ด (Mechanical Keyboard) ที่เราคุ้นเคยกันมากที่สุด น่าจะเป็น “คีย์บอร์ดสำหรับเล่นเกม (เกมมิ่งคีย์บอร์ด)” นั่นเอง เหตุผลที่เกมเมอร์ส่วนใหญ่มักจะเลือกคีย์บอร์ดประเภทนี้เป็นอาวุธประจำกาย นั่นก็เพราะว่าเมคานิคอลคีย์บอร์ดนั้น “ใช้สนุกและพิมพ์สบาย” คีย์บอร์ดประเภทนี้จะมีแรงต้านทำให้ไม่เผลอกดได้ง่ายๆ เมื่อเกมเมอร์กดคอมโบในเกมก็จะมีเสียงคลิ๊กๆๆๆ ดุเดือดเร้าใจ!
แต่คนทำงานอย่างเราก็ใช่ว่าจะชอบไฟสีที่วูบวาบและดีไซน์ที่โฉบเฉี่ยวของเกมมิ่งคีย์บอร์ดใช่ไหมล่ะครับ ด้วยเหตุนี้ทาง Keychron จึงออกแบบคีย์บอร์ดขึ้นมาเพื่อเป็นทางเลือกของคนรักเมคานิคอลคีย์บอร์ดนั่นเอง ดีไซน์ของ Keychron นั้นเน้นเรียบหรูดูเนี้ยบ เหมาะสำหรับคนที่มองหาความเท่ที่เหมาะสมกับไลฟ์สไตล์คนทำงาน คีย์บอร์ดของ Keychron สามารถรองรับอุปกรณ์ต่างๆ ได้ทั้งหมด ไม่ว่าจะเป็นคอมพิวเตอร์ โน้ตบุ๊ค แมคบุ๊ค แทบเล็ต ไอแพด หรือโทรศัพท์มือถือ มาพร้อมกับฟังก์ชั่นที่ทำให้สามารถสลับการใช้งานระหว่างอุปกรณ์ไปมาด้วยคลิ๊กเดียว นอกจากนี้ผู้ใช้งานยังสามารถประเภทของสวิทช์ได้ ทำให้ท่านสามารถเลือกแรงกดของคีย์บอร์ดได้ตามใจ ดังนั้นแล้วไม่ว่าท่านจะชอบกดแป้นนุ่มๆ แบบเงียบๆ ไม่รบกวนเพื่อนร่วมงาน หรือชอบเสียงพิมพ์คลิ๊กๆๆ เสียงดังสะใจเหมือนเครื่องพิมพ์ดีดท่านก็สามารถเลือกซื้อได้ตามใจ!
ขายของเสร็จแล้วก็กลับเข้าเรื่องเมคานิคอลคีย์บอร์ดกันต่อครับ (ฮา) สิ่งที่ทำให้เมคานิคอลคีย์บอร์ดแตกต่างตากคีย์บอร์ดปุ่มยางนอกจากจะมีเรื่องสัมผัสการกดแล้ว ยังมีเรื่องความทนทานที่เมคานิคอลคีย์บอร์ดเหนือกว่าคีย์บอร์ดปุ่มยางจนเทียบกันไม่ติด นั่นก็เพราะว่าเมคานิคอลคีย์บอร์ดนั้นใช้สปริงโลหะประกอบกับกลไกภายในปุ่มทำให้คีย์บอร์ดประเภทนี้รองรับการกดได้มากกว่า 50 ล้านครั้ง! (ในขณะที่คีย์บอร์ดปุ่มยางรองรับการกดได้เพียง 5 ล้านครั้งเท่านั้น) นอกจากนี้เจ้าเมคานิคอลคีย์บอร์ดยังใช้สวิทช์แยกกันในแต่ละปุ่ม ในขณะที่คีย์บอร์ดปุ่มยางใช้แผงวงจรร่วมกันเป็นแผ่นเดียว ทำให้เมื่อเมคานิคอลคีย์บอร์ดมีปุ่มใดปุ่มใดเสียขึ้นมา (ซึ่งเสียยากมาก) เราก็สามารถส่งซ่อมแยกเป็นปุ่มๆ ได้ ไม่ต้องซ่อมยกแผงเหมือนคีย์บอร์ดปุ่มยางหรือคีย์บอร์ดแผ่นพลาสติกนั่นเอง
หากใครอ่านแล้วสนใจเมคานิคอลคีย์บอร์ดดีไซน์สุดคูล วัสดุสุดทนทานสุดพรีเมียม พร้อมบริการแสนยอดเยี่ยมแล้ว ก็สามารถแวะไปชมหน้าสินค้าของเรา หรือเข้าไปอ่านรีวิวคีย์ครอนแต่ละรุ่นได้เลยครับ
คีย์บอร์ดกึ่งกลไก (Semi-Mechanical Keyboard)
แบ่งประเภทตามกลไกปุ่มกด
สำหรับคีย์บอร์ดกึ่งกลไกหรือเซมิเมคานิคอลคีย์บอร์ด (Semi-Mechanical Keyboard) นั้น ชื่อของมันก็บอกอยู่ว่าเป็นคีย์บอร์ดลูกครึ่งเลือดผสมครับ ความพิเศษของเจ้าคีย์บอร์ดตัวนี้ก็คือ มันได้รวบรวมความโดดเด่นหลายๆ ข้อของคีย์บอร์ดปุ่มยางกับเมคานิคอลคีย์บอร์ดเอาไว้ด้วยกันนั่นเอง
คีย์บอร์ดกึ่งกลไกนี้มีการทำงานคล้ายกับคีย์บอร์ดปุ่มยางครับ นั่นคือ ภายในคีย์แคปจะมีปุ่มยาง (Rubber dome) คอยรับแรงกดเพื่อเชื่อมวงจรใต้คีย์บอร์ด เมื่อครบวงจรแล้วจึงเด้งตัวกลับขึ้นมา ส่วนความพิเศษของคีย์บอร์ดชนิดนี้ก็คือ มันให้ความรู้สึกราวกับว่าเรากำลังใช้เมคานิคอลคีย์บอร์ดอยู่ทว่ามีราคาถูกกว่าเมคานิคอลคีย์บอร์ดของแท้เยอะทีเดียว นอกจากนี้ผู้ใช้ยังสามารถถอดคีย์แคปเพื่อปรับแต่งปุ่มกดได้เหมือนกับเมคานิคอลคีย์บอร์ด ส่วนข้อเสียที่สำคัญก็คือ ปุ่มยางของคีย์บอร์ดชนิดนี้เสื่อมสภาพไวและมีอายุการใช้งานเหมือนกับคีย์บอร์ดปุ่มยาง ด้วยเหตุนี้คอคีย์บอร์ดหลายๆ คนจึงแนะนำว่าไหนๆ ก็อยากจะเล่นเมคานิคอลคีย์บอร์ดแล้ว ลงทุนซื้อเมคานิคอลคีย์บอร์ดไปเลยจะดีกว่า
คีย์บอร์ดแบบขนาดเต็ม (Full-Sized Keyboard)
แบ่งประเภทตามขนาดและจำนวนปุ่มกด
หากมีคนบอกให้คุณนึกภาพคีย์บอร์ดเอาไว้ ผมเชื่อว่าคุณจะเห็นภาพคีย์บอร์ดแบบนี้ในหัวแน่นอน เพราะคีย์บอร์ดขนาดเต็มเป็นคีย์บอร์ดที่พบเจอได้ทั่วไปตามท้องตลาด คีย์บอร์ดชนิดนี้มีปุ่มทั้งหมด 104 ปุ่มที่มีครบทั้งปุ่มอักขระ ปุ่มตัวเลข ปุ่มลูกศร และปุ่มฟังก์ชัน โดยปุ่มสำคัญจะถูกจัดให้เป็นกลุ่มกันดังภาพ
คีย์บอร์ดขนาดเต็มเหมาะกับผู้ใช้งานทั่วไปที่ยังไม่รู้ว่าต้องการจะทำอะไรเป็นพิเศษกับคีย์บอร์ด เพราะคีย์บอร์ดชนิดนี้จะมีทุกปุ่มอยู่ครบเครื่องทำให้สามารถเลือกใช้งานได้ตามใจนั่นเอง หากใครสนใจคีย์บอร์ดประเภทนี้สามารถแวะไปส่อง Keychron K1 ได้เลยครับ
คีย์บอร์ดไร้ปุ่มตัวเลข (Ten-Key-Less Keyboard - TKL)
แบ่งประเภทตามขนาดและจำนวนปุ่มกด
ข้อแตกต่างเดียวของคีย์บอร์ดไร้ตัวเลขกับคีย์บอร์ดขนาดเต็มก็คือ คีย์บอร์ดประเภทนี้ไม่มีปุ่มตัวเลขแยกออกมาครับ และด้วยขนาดที่เล็กกว่าคีย์บอร์ดประเภทแรก จึงทำให้คีย์บอร์ดชนิดนี้ถูกเรียกอีกชื่อว่า 80% Keyboard คีย์บอร์ดประเภทนี้เป็นที่ถูกใจของเกมเมอร์และคนทำงานหลายๆ คนเนื่องจากขนาดที่เล็กลงทำให้มีพื้นที่เลือกวางเมาส์กว้างขึ้นและไม่ต้องปวดแขนจากการฉีกวงแขวนกว้าง นอกจากนี้พื้นที่บนโต๊ะทำงานที่กว้างขึ้นยังเพิ่มพื้นที่วางของสำคัญหรือวางของตกแต่งได้นั่นเอง หากใครสนใจคีย์บอร์ดแบบนี้ก็สามารถแวะไปชม Keychron K2 ได้ครับ
คีย์บอร์ดแบบกะทัดรัด (Compact Keyboard)
แบ่งประเภทตามขนาดและจำนวนปุ่มกด
คีย์บอร์ดชนิดนี้ยังมีปุ่มฟังก์ชั่นสำคัญครบ ทว่าความพิเศษของมันไม่ใช่จำนวนปุ่มกด แต่เป็นการจัดวางปุ่มแบบที่แนบชิดติดกันแบบไม่เหลือช่องว่างครับ และด้วยขนาดที่เล็กลงจึงทำให้มันถูกเรียกว่า 75% Keyboard หรือ 60% Keyboard ตามขนาดที่เล็กลงมานั่นเอง
ข้อดีของคีย์บอร์ดแบบคอมแพคต์ก็คล้ายกับคีย์บอร์ดไร้ตัวเลข นั่นคือเป็นการออกแบบตามสรีรศาสตร์ทำให้เราสามารถทำงานได้สบายขึ้น พิมพ์งานได้ไวขึ้น สนุกขึ้น นอกจากนี้ผู้ใช้งานหลายๆ คนยังชอบการออกแบบของคีย์บอร์ดแบบกะทัดรัดเช่นนี้ เพราะดูแล้วเนี้ยบ เรียบหรู โดยคีย์บอร์ดของ Keychron เกือบทุกรุ่นยกเว้นรุ่น K1 ก็เป็นคีย์บอร์ดแบบกะทัดรัดครับ
แบ่งประเภทตามเลย์เอ้าท์หรือการจัดวางปุ่มกด
นอกจากนี้คีย์บอร์ดยังถูกแบ่งประเภทโดยการจัดวางและรูปทรงของปุ่มคีย์แคปด้วย ซึ่งการจัดวางนี้จะแตกต่างกันไปตามประเทศที่ใช้งานนั่นเอง เลย์เอ้าท์ที่แตกต่างกันมีดังนี้ครับ
ANSI
(American National Standards Institute)
เป็นเลย์เอ้าท์ที่ใช้กันอย่างแพร่หลายทั้งในอเมริกาและประเทศอื่นๆ ทั่วโลก
ISO
(International Organization for Standardization)
เลย์เอ้าท์รูปแบบนี้สามารถสังเกตได้ง่ายๆ จากปุ่ม Enter ที่ถูกทำเป็นรูปตัวแอล (L) คีย์บอร์ดแบบ ISO นี้ถูกใช้กันในแถบประเทศยุโรปเป็นส่วนมาก
JIS
(Japanese Industrial Standards)
เราอาจจะไม่คุ้นตากับเลย์เอ้าท์นี้กัน เนื่องจากเป็นรูปแบบคีย์บอร์ดที่ใช้กันอยู่ในประเทศญี่ปุ่นเท่านั้นครับ
เป็นไงกันบ้างครับ รู้จักกับอุปกรณ์คอมพิวเตอร์ที่เรียกว่า "คีย์บอร์ด" มากขึ้นหรือเปล่า หากท่านกำลังมองหาคีย์บอร์ดคู่ใจสักตัว Keychron Thailand ก็ขอแนะนำคีย์บอร์ดคุณภาพสูงแบรนด์นี้ให้พิจารณาดู สำหรับท่านที่เข้ามาอ่านบทความเพื่อหาความรู้หากท่านมีข้อสงสัยเรื่องคีย์บอร์ดก็สามารถกด "คุยกับเรา" บนหน้านี้เพื่อเข้ามาพูดคุยสอบถามเราได้โดยตรง และหวังว่าในอนาคตคีย์บอร์ด Keychron ของเราจะมีโอกาสไปวางอยู่บนโต๊ะทำงานของท่านนะครับ