คีย์แคปต่างกันอย่างไร ใช้แบบไหนดี?

คีย์แคปคืออะไร?

คีย์แคป (Keycap) คือพลาสติกที่มีตัวอักษรซึ่งครอบอยู่บนสวิตช์บนแมคคานิคอลคีย์บอร์ด บางคนอาจเข้าใจว่าเป็นอันเดียวกันกับสวิตช์ แต่ที่จริงแล้วคีย์แคปและสวิตช์แยกส่วนออกจากกัน และเราสามารถปรับแต่งทั้งหมดบนแมคคานิคอลคีย์บอร์ดได้อย่างอิสระ ไม่ว่าจะเป็นคีย์แคปหรือสวิตช์เองก็ตาม

หลาย ๆ คนอาจจะพอรู้เรื่องราวเกี่ยวกับสวิตช์กันมาบ้างแล้ว (สามารถตามไปอ่านได้ที่ สีสวิตช์คีย์บอร์ดแต่ละสีต่างกันอย่างไร) ว่าสวิตช์เกี่ยวข้องกับการเลือกแรงกดหนักเบาและสัมผัสการกดแป้นพิมพ์ตามต้องการ ที่ทุกคนสามารถปรับแต่งได้บนแมคคานิคอลคีย์บอร์ด ซึ่งปกติต้องใช้การบัดกรีเพื่อเปลี่ยนสวิตช์ แต่ถ้าคีย์บอร์ดรองรับฟีเจอร์ hot-swappable ก็ไม่จำเป็นต้องบัดกรีอีกต่อไป เพราะสามารถใช้ Switch Puller เพื่อดึงสวิตช์ออกมาและใส่อันใหม่ลงไปได้ในทันที อย่างเช่นแมคคานิคอลคีย์บอร์ดจาก Keychron

ส่วนคีย์แคป เป็นส่วนที่สัมผัสกับนิ้วมือของเราบ่อยที่สุด นอกจากจะเป็นหน้าเป็นตาให้กับคีย์บอร์ดของเราแล้ว ยังให้เราเลือกสัมผัสและพื้นผิวที่เราต้องการได้ อีกทั้งวัสดุที่เลือกก็จะส่งผลต่อความคมชัดทนทานของสีและตัวหนังสือบนคีย์แคป รวมถึงเสียงที่ได้จากการกดปุ่มคีย์บอร์ดอีกด้วย ดังนั้นคีย์แคปจึงเปรียบเสมือนพื้นที่แสดงความเป็นตัวตนของเจ้าของคีย์บอร์ด เป็นส่วนที่หลาย ๆ คนเลือกจะปรับแต่งก่อนเป็นอันดับแรก เพื่อตกแต่งให้โต๊ะคอมดูคุมโทนสวยงามตามแบบฉบับของตัวเอง ทีนี้เราจะมาดูกันว่าคีย์แคปถูกแบ่งออกเป็นประเภทใดบ้าง และเราควรเลือกคีย์แคปแบบไหนจึงจะตอบโจทย์เรามากที่สุด

แบ่งประเภทจากวัสดุที่ใช้ทำคีย์แคป

คีย์แคปถูกผลิตขึ้นจากวัสดุหลัก ๆ 2 ชนิด คือพลาสติก ABS และพลาสติก PBT ซึ่งมีคุณสมบัติและให้สัมผัสแตกต่างกันไป ดังนี้

ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) 

ประเภทแรก พลาสติก ABS (Acrylonitrile Butadiene Styrene) เป็นวัสดุพลาสติกพื้นฐานที่ใช้ในการผลิตคีย์แคป ซึ่งเป็นวัสดุเดียวกับที่ใช้ผลิตเลโก้ ทนความร้อนได้ที่ประมาณ 105 องศาเซลเซียส พื้นผิวให้สัมผัสที่ลื่นกว่า เป็นวัสดุที่พบเห็นได้บนคีย์บอร์ดทั่วไป เนื่องจากต้นทุนต่ำ น้ำหนักเบา มีความยืดหยุ่นสูง ให้สีตัวอักษรที่คมชัด คีย์แคปจะมีสีสันให้เลือกหลากหลายกว่า แต่มีความคงทนต่ำกว่า PBT หากใช้งานเป็นระยะเวลานานอาจขึ้นเงาได้ง่ายกว่า ในส่วนของประสบการณ์การพิมพ์ คีย์แคป ABS จะให้ฟีลลิ่งที่เบาโปร่งและเสียงก้องกว่าแบบ PBT

PBT (Polybutylene Terephthalate)

อีกประเภทหนึ่งคือพลาสติก PBT (Polybutylene Terephthalate) วัสดุพลาสติกชนิดนี้จะมีคุณภาพสูงกว่า ABS สามารถทนความร้อนได้ถึง 220 องศาเซลเซียสเลยทีเดียว ไม่ขึ้นเงาเวลาใช้งานไปนาน ๆ พื้นผิวสัมผัสมีความสากกว่า รวมถึงให้เสียงที่ทุ้มกว่า ABS แต่ด้วยคุณสมบัติทางพลาสติกของ PBT ทำให้สีของคีย์แคป PBT จะไม่ฉูดฉาดมาก รวมถึงมีความเปราะกว่า ABS และด้วยความที่ผลิตยากกว่าทำให้ราคาคีย์แคป PBT ส่วนใหญ่จะสูงกว่า ABS

แบ่งประเภทจากเทคนิคการพิมพ์ตัวอักษรลงบนคีย์แคป

เวลาเลือกซื้อคีย์แคป หนึ่งในคุณสมบัติของคีย์แคปที่หลาย ๆ คนนำมาพิจารณาคือคีย์แคปเป็นแบบไฟลอดหรือไฟไม่ลอด ซึ่งคุณสมบัตินี้มักจะขึ้นอยู่กับเทคนิคการพิมพ์ตัวอักษรลงบนคีย์แคปนี่เอง นอกจากนี้ยังส่งผลต่ออายุการใช้งานของคีย์แคปอีกด้วย เทคนิคการพิมพ์ตัวอักษรมีอยู่หลากหลายวิธีด้วยกัน ดังนี้

เทคนิค Pad Printing

Pad Printing คือการพิมพ์สีตัวอักษรลงบนแผ่นพลาสติก เหมือนการปรินต์ตัวอักษรแปะลงไปบนคีย์แคป เป็นเทคนิคที่พบเห็นได้บนคีย์บอร์ดทั่วไปที่มีราคาไม่สูงมากเนื่องจากเป็นเทคนิคการพิมพ์ที่ราคาถูกที่สุด แต่ความคงทนต่ำเนื่องจากแผ่นพลาสติกสามารถหลุดลอกได้

เทคนิค Laser Etching

เทคนิค Laser Etching หรือ Laser Engraving เป็นการใช้เลเซอร์แกะสลักตัวอักษรลงบนเนื้อพลาสติก จึงทำให้ตัวอักษรคงทนและมีอายุการใช้งานนานกว่าเทคนิคแรก เทคนิคนี้มีอยู่หลากหลายวิธี วิธีที่นิยมก็เช่นการใช้เลเซอร์ยิงบนเนื้อพลาสติกสีอ่อนให้เกิดรอยไหม้เป็นรูปตัวอักษร หรือการยิงเลเซอร์เพื่อกัดสีพลาสติกด้านนอกที่ชุบพลาสติกสีใสด้านในไว้ ซึ่งวิธีนี้จะทำให้แสงไฟใต้คีย์บอร์ดลอดขึ้นมาให้เห็นได้นั่นเอง

เทคนิค Dye-sub (Dye Sublimation)

เป็นวิธีที่ทำให้ตัวอักษรบนคีย์แคปคมชัดและติดทนนานที่สุดวิธีหนึ่ง เนื่องจากเป็นเทคนิคการระเหิดที่ทำให้เกิดการย้อมสี เริ่มจากการให้ความร้อนบนหัวแม่พิมพ์ที่มีหมึกที่แห้งแล้วติดอยู่ จากนั้นนำลงไปปั๊มบนคีย์แคป ทำให้เกิดการระเหิดเป็นก๊าซและซึมลงไปเป็นเนื้อเดียวกันกับพลาสติก ซึ่งเป็นเทคนิคที่สามารถทำได้เฉพาะบน PBT เพราะสามารถทนความร้อนได้สูงกว่า ABS

เทคนิค Double Shot

เป็นการพิมพ์ตัวอักษรโดยใช้พลาสติกที่มีสีต่างกันสองชั้น ทำเป็นกรอบด้านนอกและกรอบด้านใน โดยจะขึ้นรูปแม่พิมพ์ชั้นในเป็นตัวอักษรทีละปุ่ม และฉีดพลาสติกลงไปอีกชั้นเพื่อเติมกรอบด้านนอกของคีย์แคป เป็นที่มาของคำว่า Double Shot ซึ่งหากพลาสติกด้านในเป็นแบบโปร่งแสง ก็จะทำให้แสงจากแป้นคีย์บอร์ดลอดขึ้นมาได้ วิธีนี้คือวิธีที่ซับซ้อนและใช้ต้นทุนสูงที่สุด เนื่องจากต้องทำแม่พิมพ์ทีละปุ่มและใช้พลาสติกถึงสองชั้น ผลที่ได้คือตัวอักษรจะมีอายุการใช้งานนานและคงทนที่สุดเพราะตัวหนังสือเกิดจากเนื้อพลาสติกด้านในนั่นเอง

แบ่งประเภทจากโปรไฟล์ของคีย์แคป

โปรไฟล์ของคีย์แคปหมายถึงรูปทรงและความสูงต่ำของปุ่มคีย์บอร์ด ซึ่งมีหลากหลายรูปทรงด้วยกัน แต่จะแบ่งกว้าง ๆ ได้ 2 แบบ ก็คือแบบที่ความสูงแต่ละแถวไม่เท่ากัน (Sculpted Profile) และแบบที่ความสูงเท่ากันทั้งหมด (Uniform Profile) ซึ่งการเปลี่ยนโปรไฟล์ของคีย์แคปจะช่วยเปลี่ยนประสบการณ์และสัมผัสการพิมพ์ให้ต่างไปจากเดิม

Sculpted Profile

• เริ่มที่ OEM Profile เป็นโปรไฟล์ที่เราคุ้นกัน ถือเป็นโปรไฟล์มาตรฐานของคีย์บอร์ดที่เราพบเห็นได้แพร่หลายที่สุด Keychron ก็ใช้โปรไฟล์นี้เป็นหลักเช่นกัน โดย OEM Profile จะมีลักษณะเว้าโค้งและเอียงทำมุมรับกับนิ้วมือ ความสูงของแต่ละแถวจะไม่เท่ากัน ซึ่งหากซื้อคีย์แคปที่ไม่ตรงกับ layout คีย์บอร์ดหรือใส่คีย์แคปสลับแถวกันก็จะทำให้คีย์แคปสูงไม่เท่ากันในแต่ละแถวได้

• Cherry Profile เป็นที่นิยมในวงการคัสต้อมคีย์บอร์ด จะมีรูปทรงและความเอียงเหมือนกับ OEM Profile เพียงแค่ความสูงของคีย์แคปต่ำกว่า OEM Profile ครึ่งหนึ่ง ทำให้ระยะการกดแป้นพิมพ์สั้นลง

• SA Profile เป็นโปรไฟล์ที่สูงที่สุดในบรรดาคีย์แคปทั้งหมด และให้เสียง “thock” เวลาเคาะแป้น ผู้ใช้งานอาจต้องใช้เวลาทำความคุ้นเคยกับโปรไฟล์ในช่วงแรกก่อนที่จะสามารถใช้ได้อย่างถนัด

Uniform / Flat Profile

• XDA Profile เป็นโปรไฟล์ที่ไม่สูงมาก ให้ความรู้สึกเหมือนพิมพ์คีย์บอร์ดบนแล็ปท็อป แต่มีลักษณะเด่นคือความสูงเท่ากันทั้งหมด เป็นรูปทรงเดียวกันทั้งเซต สลับปุ่มได้ทุกตำแหน่ง 

• DSA Profile เป็น low-profile ที่ทุกแถวเท่ากัน รูปทรงเดียวกันแบบ XDA Profile แต่ความสูงจะน้อยกว่าประมาณ 2 มิลลิเมตร ระยะการกดค่อนข้างสั้น และหากเคยชินกับ Sculpted Profile มาก่อนก็อาจต้องใช้เวลาปรับตัวในการพิมพ์พอสมควร

คราวนี้เวลาจะเลือกคีย์แคปไปใช้งาน นอกจากจะเลือกจากสีสัน รูปแบบฟอนต์ และเลย์เอาต์ที่เข้ากันได้กับคีย์บอร์ดของเราแล้ว ก็ยังสามารถเลือกผิวสัมผัสแบบที่ชอบ เลือกเทคนิคการพิมพ์ตัวอักษรลงบนคีย์แคป และรู้ความแตกต่างของแต่ละโปรไฟล์แล้วด้วย สำหรับใครที่อ่านจนจบและกำลังมองหาคีย์แคป สามารถเข้าไปเลือกชมที่ คีย์แคปคอลเลกชั่นของ Keychron ได้เลย

ที่มา:
https://blog.wooting.nl/what-are-the-best-mechanical-keyboard-keycaps 
https://www.eloquentclicks.com/guide-xda-sa-cherry-dsa-keycap-profiles-explained